ประวัติความเป็นมา

ประวัติตำบลสันทราย

                 วัฒนธรรมของชุมชนเป็นวิถีชีวิตสืบทอดผูกพัน กันมาอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การสืบทอด ศึกษาเรียนรู้สู่คนรุ่นใหม่ต่อไป ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองเชียงรายที่บันทึกไว้เป็นประวัติของวัดสันทรายหลวง ว่ามีคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ อพยพมาจากบ้านเมืองรัง เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2347 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุลาโลก ได้มอบหมายให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ และเจ้าพระยายมราช ขึ้นมาตีเมืองเชียงแสน และได้ทำลายบ้านเมือง เพื่อไม่ต้องการให้พม่าเข้ามายึดครองอีก พร้อมทั้งอพยพผู้คนโดยแบ่งออกเป็น 5 สายคือ  เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองน่าน เมืองเวียงจันทร์ และอีกส่วนหนึ่งนำกลับเข้าเมืองหลวง โดยให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่แทนอำเภอเสาไห้ จังหวัดลพบุรี   จังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปถึง พ.ศ. 2378 เมื่อบ้านเมืองสงบลง ผู้คนที่เคยถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองเชียงใหม่ จึงออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงพร้อมใจกันอพยพกลับมาอยู่และย้ายบ้านเรือนอยู่บริเวณสันทราย ริมแม่น้ำลาว ซึ่งเป็นที่ดอนใกล้แม่น้ำเหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งตอนนั้นอพยพมาครั้งแรก 3 ครอบครัวต่อมาอพยพติดตาม จนมีผู้คนเข้ามาอยู่มากขึ้นได้ทยอยไปยังจุดอื่นๆ ได้แก่ บ้านป่ากล้วย หนองควาย บ้านร่องก๊อ  บ้านป่าตึง ป่าข่า นับเป็นพื้นที่ตำบลสันทรายในปัจจุบัน (บันทึกประวัติศาสตร์วัดสันทรายหลวง เมื่อปี พ.ศ.2501 โดยพระกัณทาเจ้าอาวาส)

จากข้อสันนิษฐานที่บันทึกไว้ดังกล่าว พอจะอนุมานทางประวัติศาสตร์ได้ว่า ผู้คนก่อนี่จะถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองเชียงใหม่นั้น เป็นชาวบ้านพื้นแพเดิมที่อยู่ในเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน  ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่อพยพมาอยู่แต่ครั้งอดีต ซึ่งเรียกตัวเองว่า คนไตยวน หรือยวนหรือไตย ผ่านการปกครองมาหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่ง พม่าเข้ามายึดครองพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเมืองชายขอบของอาณาจักรสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 เกรงว่าพม่าจะกลับมายึดครองอีก จึงตีเมืองเชียงแสน และเผาทำลายเมืองอพยพผู้คนไปไว้ตามเมืองที่กล่าวมาข้างต้น ในข้อสันนิษฐานดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนที่มาตั้งรกรากดั่งเดิมของชุมชนสันทราย คือ กลุ่มคนชาวไทยวน หรือคนเมือง คนล้านนา ในปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นฟู ดั่งเดิม กลับมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญา ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน 

เทศบาลตำบลสันทราย ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดเป็นแผนฟื้นฟูในนโยบายของเทศบาล ประกอบด้วย พื้นที่ตำบลสันทรายอยู่ระหว่างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ วัดร่องขุ่นและไร่สิงห์ปาร์ค ในแต่ละปีมีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก  เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของชุมชนตำบลสันทราย ที่มีประวัติศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มีขนมธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญา ที่ปฏิบัติสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญตั้งอยู่ อาทิ

สวนรุกขชาติโป่งสลี เป็นสวนป่าอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ไปด้วยไม้สักทอง เกือบ 6 พันต้นและเป็นไม้สักที่มีสายพันธุ์ดีอยู่ถึง 324 ต้น รวมถึงต้นไม้สักขนาดใหญ่ที่หาดูได้ยากมีอายุเก่าแก่อีกหลายสิบต้น ทางกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจึงประกาศให้เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมทั้งจังหวัดเชียงราย ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสวนป่าในเมือง ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยว ทำกิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกายพักผ่อนและเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด นอกจากสวนป่าดังกล่าวพื้นที่ตำบลสันทราย ยังมีแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดไหล่ผ่าน ได้แก่แม่น้ำลาว เป็นเหมือนสายของคนเชียงราย ต้นน้ำมาจากเทือกเขาที่ริมน้ำซึ่งติดกับระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายไหลผ่านมาทางอำเภอ ไหลลงสู่แม่น้ำกก และไหล่ลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำลาวไหลผ่านพื้นที่สวนรุกขชาติโป่งสลีจึงเหมาะที่จะปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

  นอกจากนั้น ตำบลสันทราย ยังมีสถานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงเมืองพุทธ อันได้แก่วัดป่ากล้วย ที่ประดิษฐานพระปางประทานพร ซึ่งสร้างมาจากต้นไม้ตะเคียนคูที่มีขนาดใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงราย เพราะผู้คนจะเดินทางเข้าตัวเชียงรายจะต้องผ่านต้นตะเคียนคู่นี้ที่ต้นเด่นเป็นสง่ามาหลายช่วงอายุคน จนเมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้เกิดฟ้าผ่าต้นคะเคียนทางทิศตะวันออกตายลง ทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จึงรวมใจของคนเชียงราย ร่วมกันสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบทอดพระพุทธศาสนา และให้คนเดินทางเข้ามาเมืองเชียงราย ได้เคารพกราบไหว้ เพื่อให้เกิดเป็นศิริมงคล จึงได้แกะสลักสร้างเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร

นอกจากนั้นก็มีวัดสันทรายหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของชุมชนที่ผู้คนอพยพมาครั้งแรก โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2416 เวลาล่วงเลยมา 149 ปีจนมาถึงปี พ.ศ. 2544 ต้นไม้ขนุนขนาดใหญ่อยู่ติดกับอุโบสถ ไม่ทราบว่าใครเป็นคนปลูกและปลูกเมื่อไร โดยสันนิษฐานว่าน่าจะปลูกในเวลาใกล้เคียงกันกับการสร้างวัด เพราะมีต้นขนาดใหญ่และเริ่มจะหมดอายุ กิ่งก้านเริ่มแห้ง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดเกรงว่าจะล้มทับอุโบสถและอันตรายกับผู้เดินทางผ่าน จึงได้ตัดและนำมาแกะสลักสร้างเป็นพุทธรูป  ขนาดหน้าตัก 1.42 เมตร สูง 2.44 เมตร และได้ขอประทานจากสมเด็จพระสังฆราชสากลมหาสังฆปรินายก  โดยได้รับประธานนามว่า พระพุทธบารมีเฉลิมจักรีบรมราช ซึ่งไม้ขนุนดังกล่าว เป็นความเชื่อของประชาชนโดยทั่วไปว่าไม้ขนุนเป็นไม้หนึ่งในไม้มงคล ซึ่งใครมีโอกาสได้เคารพกราบไหว้ จะเป็นบุญชีวิตและช่วยหนุนนำให้ชีวิตพบแต่ความสุขความเจริญ

อีกหนึ่งวัดที่เป็นเส้นทางในการเดินทางผ่านเข้ามาออกเมืองเชียงราย คือ วัดโป่งสลี ซึ่งอยู่ติดกับสวนรุกขชาติเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ความโดดเด่นของวัดนี้ คือ ภาพวาดภายในอุโบสถ ซึ่งวาดโดยศิลปินที่มีชื่อและเป็นภาพวาดที่แตกต่างจากที่อื่นๆ โดยจะเป็นภาพวาดที่ออกในแนววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งกลุ่มศิลปิน จิตรกรรม จากสภาพและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ วิถีชีวิต ทางศิลปะประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น อันได้แก่ ผ้าทอสันทราย เป็นแหล่งทอผ้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย เครื่องปั้นดินเผา ยังคงเป็นงานศิลปะ ดังเดิมที่คงอยู่ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป นอกจากนั้นวิถีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตอาทิ ด้านอาหาร เครื่องใช้ ศิลปะการแสดง วัฒนธรรมประเพณีวันสำคัญต่าง ๆ ยังคงอยู่ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี  วิถีคนเมืองหรือคนล้านนา หรือคนไทยวน

  ด้วยบริบทของท้องถิ่น ที่สามารถนำมาหล่อหลอม ให้เป็นจุดขาย เพื่อนำวิถีบ้าน วิถีธรรมชาติ มาสร้างคุณภาพชีวิตให้ชุมชนตำบลสันทราย มีเศรษฐกิจดี มีชุมชนเข้มแข็งมีการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป





 

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง